บริการทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST)
การทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย เป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าขณะที่หัวใจทำงานหนัก ส่วนใหญ่ใช้เพื่อทดสอบในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก เพื่อดูว่ามีสาเหตุหรือที่มาจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่ เพราะหากผู้ป่วยมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือหลอดเลือดหัวใจตีบอยู่จะทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ มีผลให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจที่แสดงออกมานั้นผิดปกติ หรือหากเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่มีอาการก็สามารถใช้วิธีการทดสอบนี้เพื่อตรวจประเมินความเสี่ยงได้เช่นกัน นอกจากนี้การทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกายยังสามารถนำไปประเมินสุขภาพหัวใจรวมถึงสุขภาพโดยรวมอื่น ๆ ได้อีกด้วย
การทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST) คืออะไร?
การทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกายหรือ Exercise Stress Test (EST) คือ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจในขณะที่กำลังออกกำลังกายอยู่ โดยเจ้าหน้าที่จะติดเครื่องมือเพื่อวัดและมอนิเตอร์ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ อัตราการเต้นของชีพจรและความดันโลหิตเป็นระยะ ๆ วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์ตรวจพบการตอบสนองที่ผิดปกติเมื่อหัวใจทำงานหนักได้ เช่น อาการหายใจลำบาก อาการเจ็บแน่นหน้าอก การเต้นของหัวใจผิดปกติ หรือมีการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หากผู้ป่วยมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือหลอดเลือดหัวใจตีบตันอยู่จะทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอขณะที่ออกกำลังกาย ทำให้กราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่แสดงออกมาบนจอนั้นเปลี่ยนแปลงไป
การทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST) มีขั้นตอนอะไรบ้าง?
- เจ้าหน้าที่จะทำการติดอุปกรณ์แผ่น Electrode ที่บริเวณหน้าอก แขน และขา ทั้งหมด 10 จุด เพื่อบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจและอัตราการเต้นของชีพจรรวมถึงติดเครื่องวัดความดันโลหิตไว้ที่ต้นแขนขณะที่ผู้เข้ารับการตรวจอยู่บนสายพาน
- จากนั้นจะเริ่มจากการเดินช้าบน ๆ สายพานและปรับเพิ่มความเร็วและความชันตามการความเหมาะสมในการทดสอบ และเมื่อเดินได้ถึงอัตราชีพจรเป้าหมายที่แปลผลได้การทดสอบจะสิ้นสุดลง โดยจะใช้เวลาในการตรวจอยู่ที่ประมาณ 15-20 นาที
- ในขณะที่เดินบนสายพานจะมีการสังเกตคลื่นไฟฟ้าหัวใจ อัตราการเต้นของชีพจรและความดันโลหิตเป็นระยะ ๆ
- หากตรวจพบความผิดปกติเหล่านี้การตรวจจะสิ้นสุดลงก่อน ได้แก่
- มีอาการผิดปกติ เช่น หอบ เหนื่อยมาก วิงเวียนศีรษะ จะเป็นลม แน่นหน้าอกหรือแน่นบริเวณกรามฟัน
- ตรวจพบคลื่นไฟฟ้าหัวใจในลักษณะที่บ่งชี้ถึงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง
- ความดันโลหิตสูงขั้นรุนแรง
- หรือกรณีที่ผู้ป่วยขอหยุดการทดสอบเนื่องจากไม่สามารถทำการเดินต่อได้
การทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST) เหมาะกับใครบ้าง?
การทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST) เหมาะกับผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยงบางอย่าง เช่น ผู้สูบบุหรี่จัด หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดสูง ผู้ป่วยเบาหวาน และผู้ป่วยความดันโลหิตสูง หรือผู้ที่มีอาการเจ็บหรือแน่นบริเวณหน้าอกบ่อย ๆ จากการทำงานที่ต้องใช้แรงหรือออกกำลังกาย
ข้อดีของการทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST)
ข้อดีหรือประโยชน์ของการทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย มีดังนี้:
- ใช้วินิจฉัยได้ว่าในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยง่าย แน่นหน้าอกบ่อยนั้น มาจากสาเหตุจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือหัวใจขาดเลือดหรือไม่
- ใช้สำหรับประเมินความเสี่ยงในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ แต่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบระดับปานกลางขึ้นไป
- ใช้ประเมินว่าผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มีอาการรุนแรงเพิ่มมากขึ้น หรือมีความจำเป็นที่จะต้องทำการรักษาโดยการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจแล้วหรือไม่
- ใช้ประเมินและวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิด
- ใช้ประเมินประสิทธิภาพความสามารถสูงสุดของร่างกายและหัวใจในการออกกำลังกาย
- ใช้ประเมินระดับความสามารถสูงสุดในการออกกำลังกาย ในผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
เตรียมตัวอย่างไรก่อนเข้ารับบริการทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST)?
การทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST) ต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้า เนื่องจากพฤติกรรมหรือปัจจัยกระตุ้นบางอย่างอาจทำให้การวินิจฉัยผลการตรวจผิดพลาดได้ ซึ่งการเตรียมตัวก่อนการเข้าตรวจ มีขั้นตอนดังนี้
- งดอาหารและน้ำ 3 ชั่วโมงก่อนการทดสอบ
- งดอาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนก่อนการทดสอบ 12 ชั่วโมง เพราะคาเฟอีนอาจรบกวนการแปลผลในการทดสอบ
- สำหรับผู้ป่วยที่มีการรับประทานยาเป็นประจำ (โดยเฉพาะยาโรคหัวใจและยาในกลุ่มลดความดันโลหิตสูง) ควรแจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ก่อนเข้ารับการตรวจ เพื่อให้แพทย์ได้พิจารณาและให้คำแนะนำหากมียาตัวใดที่มีผลรบกวนต่อการตรวจ
- สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้เข้ารับการตรวจควรแจ้งแพทย์ผู้ดูแลในการรักษาเรื่องเบาหวานทราบ เพื่อเตรียมตัวเรื่องยาเบาหวานให้เหมาะสมสำหรับวันที่จะเข้ารับการตรวจ
- สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืดและอยู่ในระหว่างรักษาด้วยยาพ่น ให้นำยาติดตัวมาด้วยในวันที่เข้ารับการตรวจ
ที่ Longa Heart Health Medical Center ศูนย์ดูแลรักษาหลอดเลือดและโรคหัวใจโดยไม่ต้องผ่าตัด เปิดให้บริการทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST) รวมถึงบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของหัวใจ โดยทีมแพทย์ พยาบาล และผู้ร่วมสหวิชาชีพที่เชี่ยวชาญในการดูแลสุขภาพหัวใจ เราเชื่อว่าทุกคนควรหมั่นตรวจสอบสุขภาพของหัวใจเป็นประจำ ไม่ว่าคุณจะเป็นกลุ่มเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจหรือไม่หากสนใจรับบริการสามารถเข้ามาที่คลินิก ติดต่อมาก่อนเพื่อรับคำปรึกษาได้ที่เบอร์ 099 986 8443